ปวดหัวแบบไหนถึงเรียกว่า ไมเกรน
ไมเกรนเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 22-55 ปี ผู้หญิงจะมีโอกาสมากว่าผู้ชาย 3 เท่า ประมาณ 70-80% ของผู้ป่วยไมเกรนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการดังนี้
1. ปวดตุ้บๆ ที่ขมับ หรือเบ้าตาซีกใดซีกหนึ่ง ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่บางครั้งก็อาจปวดแบบตื้อๆ ก็ได้ อาจปวดแบบสลับข้าง หรือปวดพร้อมๆ กันทั้ง 2 ข้าง มักปวดเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ
2. ก่อนปวด หรือขณะปวดอาจมีอาการตาพร่า ตาลาย เห็นแสงว๊อบแว๊บ หรือตามืดมัวไปครึ่งซีก
3. ถ้าปวดรุนแรงก็อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
ปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อตึงตัวมีลักษณะอย่างไร
การปวดศีรษะแบบนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และพบบ่อยหลังมีความเครียด ความกังวล การใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรืออาจมีความแปรปรวนของอารมณ์ โดยมักแสดงอาการดังนี้
– ปวดเหมือนถูกคีมหนีบหรือถูกผ้ารัดไว้แน่นๆ
– มีลักษณะปวดตื้อๆ หนักๆ บางคนอาจปวดจี๊ดบริเวณต้นคอ ท้ายทอย ดวงตาหรือขมับ หรือปวดตื้อไปทั้งศีรษะ
– มักจะปวดในช่วงบ่ายๆ หรือเย็นๆ เวลาหายก็มักจะหายไม่สนิท จะรู้สึกตื้อๆ ที่ศีรษะอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งต่างจากไมเกรนที่ปวดรุนแรง แต่บทจะหายก็ไม่เหลืออาการปวด
คลัสเตอร์ อาการปวดศีรษะที่รุนแรงที่สุด
ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ หรือที่เรียกว่า ปวดศีรษะแบบอยากฆ่าตัวตาย นั้น มักจะพบในผู้ชาย โดยมีอาการดังนี้
1. ปวดตุ๊บๆ บริเวณรอบดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง
2. รู้สึกร้อนแปล๊บที่หน้าผากเหมือนมีมีดร้อนๆ มาทิ่ม
3. มักจะปวดตอนกลางคืน และปวดตรงเวลาทุกวัน อาจนานเป็น 10-20 นาที หรือเป็นชั่วโมง บางรายอาจจะปวดเรื้อรังเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
4. เวลาปวดจะมีอาการรุนแรงจนอยู่เฉยไม่ได้ ต้องเดินไปเดินมา ซึ่งต่างจากไมเกรนที่เวลาปวดมักอยากนอนเฉยๆ
ใครบ้างมีอาการปวดศีรษะแบบผสม
คือทั้งอาการไมเกรน และอาการปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อตึงตัว หรือแบบอื่นๆ ร่วมกันในเวลาเดียว สาเหตุที่เกิดอาการปวดศีรษะแบบผสมที่พบบ่อยที่สุดคือ
– การใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ หรือเกินขนาด
– ผู้ป่วยที่มีประวัติไมเกรน หรือปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อตึงตัว หากทานยาแก้ปวดเป็นจำนวนมากมักจะพัฒนาเป็นการปวดศีรษะแบบผสมเมื่ออายุ 30-40 ปี
สาเหตุปวดศีรษะเรื้อรังในทางการแพทย์แผนจีน
1. ภาวะหยางในตับมากเกินไป จนลอยขึ้นไปปะทะที่ศีรษะ
ในตับและไตมีทั้งหยินและหยาง ไตต้องส่งหยินไปหล่อเลี้ยงตับเพื่อไม่ให้ตับร้อนเกินไป แต่เมื่อไตอ่อนแอ ก็ไม่ส่งหยินไปหล่อเลี้ยงตับได้มากเท่าที่ควร ทำให้ความร้อนในตับมีมากเกินไปจนลอนขึ้นไปปะทะที่ศีรษะ
ภาวะเช่นนี้จะก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะเรื้อรัง หูอื้อ ตาลาย หน้าแดง ปากขม อารมณ์หงุดหงิด โมโหร้าย ขี้หลงขี้ลืม อุจจาระแข็ง ท้องผูก ลิ้นแดง มีฝ้าเหลืองบนลิ้น แขนขาเป็นเหน็บชา ลิ้นแข็ง พูดอ้อแอ้
อาการปวดศีรษะจากความดันโลหิตสูงก็เกิดจากภาวะนี้เช่นกัน นอกจากอารมณ์ที่ตึงเครียด ตื่นเต้น หรือคิดมาก ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงของภาวะนี้เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
2. ภาวะติดขัดของเส้นลมปราณหล่อเลี้ยงศีรษะ
เส้นลมปราณที่หล่อเลี้ยงศีรษะมีอยู่หลายเส้นด้วยกัน เช่น เส้าหยาง, หยางหมิง, ไท่หยาง เป็นต้น เมื่อเส้นลมปราณเหล่านี้ไม่โล่ง ก็จะเกิดอาการปวดศีรษะขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับหลักการวินิจฉัยและการรักษาอันสำคัญของแพทย์แผนจีน
3. หากเส้นลมปราณเส้าหยางมีการติดขัดก็จะทำให้ปวดศีรษะแบบไมเกรน
4. หากเส้นลมปราณหยางหมิงติดขัดก็จะทำให้ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์
5. หากเส้นลมปราณไท่หยางติดขัดก็จะทำให้ปวดศีรษะแบบกล้ามเนื้อตึงตัว
6. หากเส้นลมปราณเจี่ยยิน หรือตูม่ายมีการติดขัด ก็จะทำให้เกิดอาการปวดบริเวณกลางศีรษะ
7. หากเส้นลมปราณที่หล่อเลี้ยงศีรษะติดขัดพร้อมกันหลายเส้น ก็จะเกิดอาการปวดศรีษะในหลายๆ รูปแบบร่วมกัน
ขอบคุณข้อมูล : thearokaya